วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เปิดตัวรถบัสเวียนที่สามารถขับเคลื่อนตัวเองอัตโนมัติในชื่อโอลลี (Olli) - ปัญญาประดิษฐ์ AI



ยลโฉม Olli รถบัสขับเคลื่อนตัวเองที่คุยกับผู้โดยสารได้เพราะระบบ IBM


เครดิตบทความ ปัญญาประดิษฐ์ AI  โดย ผู้จัดการออนไลน์ 

เปิดตัวรถบัสเวียนที่สามารถขับเคลื่อนตัวเองอัตโนมัติในชื่อโอลลี (Olli) จุดเด่น คือ การใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์อย่างวัตสัน (Watson) ของเจ้าพ่อสีฟ้า ไอบีเอ็ม (IBM) ที่ทำให้ผู้โดยสารสามารถพูดคุยกับระบบขับเคลื่อนรถได้ ล่าสุด ประเดิมทดสอบบนถนนสาธารณะในสหรัฐอเมริกาแล้ว เมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา
     
Olli เป็นผลผลิตของบริษัทโลคอลมอเตอร์ส (Local Motors) ซึ่งมีดีกรีเป็นผู้สร้างรถจากงานพิมพ์ 3 มิติคันแรกของโลก โดยรถ Olli มีลักษณะเป็นรถบัสจิ๋วสำหรับใช้วนเวียนรับส่งผู้โดยสารเป็นระยะทางสั้นเฉพาะจุด เบื้องต้น Olli รองรับผู้โดยสาร 12 คนต่อรอบ
     
ความพิเศษของ Olli คือ การเป็นรถอัตโนมัติรุ่นแรกที่ใช้ระบบ Watson ซึ่งเป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่เรียนรู้พัฒนาบนข้อมูลใหม่ได้อัตโนมัติที่ IBM เรียกว่า เป็น machine-learning platform โดย Watson คือ ส่วนประกอบหลักที่ทำให้ Olli สามารถสื่อสารกับผู้โดยสารได้
     
การสื่อสารที่เกิดขึ้นทำให้ Olli สามารถตอบสนองต่อคำสั่งเสียงของผู้โดยสาร เช่นคำพูดว่า “Hey, Olli, please take me downtown” รถ Olli ก็จะสามารถส่งผู้โดยสารในตัวเมืองได้ นอกจากนี้ ความสามารถของ Watson ยังทำให้ระบบสามารถตอบคำถามผู้โดยสารตามเทคโนโลยีที่ IBM พัฒนาให้ระบบสามารถแปลงเสียงพูดเป็นข้อความกลับไปมาได้อย่างแม่นยำถูกต้อง ส่งให้ Olli สามารถแนะนำจุดหมายปลายทางที่ดีที่สุดแก่ผู้โดยสารไม่ต่างจากพนักงานขับรถอัธยาศัยดี
     
ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา Olli จะเริ่มทดลองให้บริการบนถนนสาธารณะในเขต National Harbor ที่แมรี่แลนด์ ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานแห่งใหม่ของ Local Motors ก่อนจะขยายไปให้บริการต่อสาธารณชนวงกว้างต่อไปในช่วง 2-3 เดือนนับจากนี้
     
เบื้องต้น Local Motors มีแผนผลิตรถเวียนขับเคลื่อนตัวเองอัตโนมัติระบบ Watson เพิ่มขึ้นเพื่อทดลองให้บริการบนถนนสาธารณะหลายสายยิ่งขึ้นในลาสเวกัส และฟลอริดา ในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งโครงการนำร่องทดสอบเหล่านี้จะนำไปสู่การทดสอบ Olli จำนวนหลายสิบคัน



วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2559

วิสัยทัศน์รองนายกสิงคโปร์ อย่ามองว่า AI จะมาแทนคน แต่เราควรพัฒนาขีดความสามารถคนด้วย AI ต่างหาก

วิสัยทัศน์รองนายกฯสิงคโปร์ อย่ามองว่า AI จะมาแทนคน แต่เราควรพัฒนาขีดความสามารถคนด้วย AI ต่างหาก


เครดิตบทความ โดย บล็อกนัน

Tharman Shanmugaratnam รองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ กล่าวปาฐกถาสั้นๆ ในโอกาสเปิดตัวศูนย์ IBM Watson Center Singapore เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน cognitive, AI, blockchain ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

โดยรองนายกฯ Tharman บอกว่าสิงคโปร์เป็นประเทศเล็ก มีจำนวนประชากรน้อย เป้าหมายของรัฐบาลสิงคโปร์ก็คืออยากให้ประชาชนทุกคนได้ทำงานที่มีคุณภาพ (ใช้คำว่า quality jobs) แม้การมาถึงของเทคโนโลยีใหม่ๆ อาจจะทำลาย (disrupt) อุตสาหกรรมเก่าๆบางอย่างลง ตำแหน่งงานบางอย่างอาจจะหายไป แต่ในอีกมุมหนึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ก็เป็นตัวช่วย (enabling technology) สร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน

Tharman ยกตัวอย่างตำแหน่งงานใหม่ๆ อย่างงานด้าน AI, cognitive และอีคอมเมิร์ซ เขาบอกว่ารัฐบาลสิงคโปร์อยากใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยรีดศักยภาพและความสามารถของคนในประเทศ (maximizing human capacity) เขามองว่าเทคโนโลยีพวก AI (Artificial Intelligence) ไม่ได้มาแทนคน แต่มาช่วยให้คนเราพัฒนาศักยภาพของตัวเองให้ดีกว่าเดิม

ตัวอย่างคือ AI (Artificial Intelligence) ที่ช่วยอ่านข้อมูลต่างๆ จะช่วยให้เรามีความสามารถ "เข้าใจ" ความหมายของข้อมูลได้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ทุกวันนี้เราเก็บข้อมูลกันได้มากขึ้น คำถามคือเราจะเข้าใจมันมากขึ้นได้อย่างไร

Tharman ยังบอกว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ จะช่วยให้บริษัทรายเล็กแข่งขันกับรายใหญ่ได้อย่างเท่าเทียมมากขึ้น (leverage the playing field) ปกติแล้วบริษัทใหญ่ๆ มักไม่ค่อยร่วมมือกัน เพราะมองว่าบริษัทอื่นคือคู่แข่ง และมักจะไปร่วมมือกับบริษัทเล็กๆมากกว่า

รัฐบาลสิงคโปร์อยากให้เกิดความร่วมมือ (collaboration) ลักษณะนี้ให้มาก และจะพยายามเร่งให้เกิดความร่วมมือแบบนี้ให้มากที่สุดและเร็วที่สุด

วันพุธที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2559

นับถอยหลัง Ke Jie นักหมากล้อมมือหนึ่งของโลก ปะทะ AlphaGo

ยืนยันแล้ว มือโกะ(หมากล้อม)อันดับหนึ่งของโลก Ke Jie จะแข่งกับ AlphaGo ภายในปีนี้

เครดิตบทความปัญญาประดิษฐ์ AI  โดย บล็อกนัน

สำนักข่าวซินหัว Xinhua ของจีน รายงานข่าวว่าสมาพันธ์โกะนานาชาติ  IGF(International Go Federation) ประกาศว่าเราจะได้เห็นแมตช์การแข่งขันหมากล้อม ระหว่าง AlphaGo กับ Ke Jie ซึ่งเป็นนักเล่นหมากล้อมอาชีพมือหนึ่งของโลกชาวจีน ภายในปีนี้ แต่ยังไม่มีการระบุวันเวลาแข่งขันที่ชัดเจน

Ke Jie เป็นนักเล่นโกะมือหนึ่งของโลกในปัจจุบัน ( โดย Lee Sedol เคยเป็นมือหนึ่งของโลก แต่ปัจจุบันอยู่อันดับสี่) โดย Ke Jie เคยให้สัมภาษณ์หลัง Lee Sedol แพ้เกมแรกว่า AlphaGo เอาชนะเขาไม่ได้ แต่ภายหลังเมื่อ AlphaGo สามารถปราบเอาชนะลี ซีโดล ไปด้วยคะแนน 4-1 กระดาน เขาก็ยอมรับว่า AlphaGo นั้นยอดเยี่ยมมาก และเขาก็มีโอกาสที่จะแพ้สูงเช่นกัน

Ke Jie นั้นมีอายุเพียง 18 ปีเท่านั้น ถือเป็นนักเล่นโกะดาวรุ่งอีกคนที่ไต่อันดับโลกขึ้นมาสู่ระดับท๊อปของโลกอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นมือหนึ่งของโลกในที่สุด ณ ปัจจุบัน(2016)

  เทปสัมภาษณ์ Ke Jie ยอมรับว่า AlphaGo นั้นแกร่งกว่าที่คาด

Artificial Intelligence, AI, หมากล้อม, สมองกลอัจฉริยะ, ปัญญาประดิษฐ์

วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2559

Honda ตั้งศูนย์วิจัย AI แห่งใหม่ในโตเกียว

Honda ตั้งศูนย์วิจัย AI แห่งใหม่ในโตเกียว 

เครดิตข้อมูล โดย บล็อกนัน

Honda ตั้งศูนย์วิจัย AI แห่งใหม่ในโตเกียว โดยใช้ชื่อว่า Honda R&D Innovation Lab Tokyo หลังจากที่ก่อนหน้านี้ Honda ตั้งศูนย์วิจัย AI ในไซตามะ และวาโกะเพื่อทำการวิจัยพัฒนาหุ่นยนต์ Asimo

Honda เชื่อว่าการตั้งศูนย์วิจัย AI ในเมืองใหญ่อย่างโตเกียวจะช่วยให้ง่ายขึ้นในการร่วมงานกับบรรดามหาวิทยาลัย และองค์กรต่างๆ รวมถึงบริษัทด้านเทคโนโลยีด้วย

Honda ตั้งเป้าว่าจะเร่งพัฒนาหุ่นยนต์และรถยนต์ไร้คนขับที่ซึ่งหวังให้สามารถใช้งานตามทางด่วนได้ภายในปี 2020 อีกด้วย


หน่วยงาน NIST ร่วมกับ FBI พัฒนา AI เพื่อแกะรอยอาชญากรโดยวิเคราะห์จากรอยสัก

NIST ร่วมกับ FBI พัฒนา AI เพื่อแกะรอยอาชญากรโดยวิเคราะห์จากรอยสัก


เครดิตข้อมูล โดย ตะโร่งโต้ง's blog

EFF (Electronic Frontier Foundation) ซึ่งเป็นองค์กรไม่หวังผลกำไรที่ทำด้านสิทธิของผู้ใช้งานไอที ได้เผยข้อมูลจากการศึกษาจนทราบว่าขณะนี้ FBI กำลังร่วมกับ NIST ซึ่งเป็นหน่วยงานออกมาตรฐานอุตสาหกรรมสหรัฐอเมริกา พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่จะวิเคราะห์ภาพรอยสักเพื่อช่วยในการระบุตัวตนอาชญากร

แนวคิดของโครงการนี้คือการใช้พลังการวิเคราะห์ภาพถ่ายรอยสักเพื่อนำมาทำข้อมูลเฉพาะตัวของอาชญากรแต่ละคน  ขั้นตอนแรกของการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์(AI) นี้เป็นการใช้ภาพถ่ายรอยสักของผู้ต้องคดีกว่า 15,000 ภาพ มาสอนให้ระบบรู้จักจำแนกแยกแยะลักษณะเฉพาะของรอยสักเหล่านั้น หลังจากนั้นจะเพิ่มจำนวนภาพถ่ายอีกกว่า 100,000 ภาพ โดยนำมาจากฐานข้อมูลของหน่วยงานรัฐใน Florida, Michigan และ Tennessee

ด้วยการทำงานของปัญญาประดิษฐ์(AI) ที่ถูกพัฒนาขึ้นมานี้ ฐานข้อมูลภาพถ่ายรอยสักของผู้ต้องคดีจะถูกนำมาใช้เพื่อการวิเคราะห์สำหรับงานของรัฐ ทำให้ชี้เป้าตัวบุคคลหรือกลุ่มองคก์กรที่มีความเชื่อมโยงกับรอยสักต่างๆ ได้ โดยอ้างอิงจากลักษณะเฉพาะของลวดลายรอยสัก, รูปแบบแนวทางของการออกแบบรอยสัก, ตลอดจนเนื้อหาที่ถูกอ่านหรือตีความได้จากรอยสักแต่ละรอย

อย่างไรก็ตาม EFF มีความเห็นว่าการวิเคราะห์ภาพรอยสักเพื่อใช้จำแนกตัวบุคคลเช่นนี้อาจถูกตีความว่าเป็นการกระทำที่ละเมิด First Amendment อันหมายถึงบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาบทที่ 1 ซึ่งว่าด้วยเรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนา, แสดงความเห็น, การชุมนุมอย่างสงบและการร้องเรียนรัฐ เนื่องจาก EFF มองว่ารอยสักอาจถูกนับเป็นรูปแบบหนึ่งของการแสดงออกถึงความเห็นของตัวบุคคลเจ้าของรอยสักนั้นที่พึงได้รับการคุ้มครอง

EFF(Electronic Frontier Foundation) ยังเล็งเห็นว่าการใช้ภาพถ่ายรอยสักของผู้ต้องคดีจำนวนมากมาเป็นกลุ่มข้อมูลเพื่อสอนปัญญาประดิษฐ์นั้นอาจไม่เหมาะสมในแง่จริยธรรม ยิ่งเมื่อพิจารณาจากความจริงที่ว่าในบรรดารอยสักเหล่านั้น มีอยู่ไม่น้อยที่มีลวดลายบ่งขี้ข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อของคนอันเป็นที่รัก, ภาพใบหน้าบุคคล หรือกระทั่งวันเกิด นอกจากนี้ EFF ยังอ้างว่า NIST มีการเลือกใช้ข้อมูลภาพถ่ายแบบเจาะจงอย่างไม่เหมาะสมโดยมีการเก็บข้อมูลที่เน้นหนักอิงตามศาสนาที่เจ้าของรอยสักนับถือด้วย