วันอังคารที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ชาวอเมริกันทั่วไปกังวลกับการมาถึงของ (A.I.) ที่จะเข้าแทนมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ



ชาวอเมริกันทั่วไปกังวลกับการมาถึงของระบบอัตโนมัติปัญญาประดิษฐ์ (A.I.) ที่เข้ามามีส่วนตัดสินใจแทนมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ


ในขณะที่บรรดานักพัฒนาจาก Silicon Vally กำลังยินดีฉลองกับความสำเร็จในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์(A.I.) และหุ่นยนต์ ว่าสามารถนำมาช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับมนุษย์ได้นั้น อีกด้านหนึ่งของประชากรในประเทศเดียวกันอาจจะไม่ได้กำลังยินดีไปด้วยเลยก็เป็นได้ เมื่อมีการวิจัยเปิดเผยว่า ชาวอเมริกันกว่า 70% มีความกังวลถึงสิ่งที่จะตามมาจากการพัฒนาของปัญญาประดิษฐ์ โลกในยุคแมชชีนกำลังครองเมือง และเข้าแทนที่การทำงานในด้านต่าง ๆ ที่มนุษย์เคยทำ

ผู้ที่ทำการสำรวจอย่างแอรอน สมิธ (Aaron Smith) จาก Pew Research ได้ทำการสอบถามความเห็นจากชาวอเมริกันกว่า 4,000 คน โดยระบุว่าชาวอเมริกันทั่วไปนั้นต่างกังวลกับการมาถึงของระบบอัตโนมัติ (A.I.) ที่จะเข้ามาตัดสินใจแทนมนุษย์มากขึ้นเรื่อย ๆ และพวกเขาไม่ได้ตื่นเต้นเกี่ยวกับการมาถึงของหุ่นยนต์เหมือนที่บริษัทเทคโนโลยีมากมายรู้สึกด้วย

โดยทาง Pew Research ได้ประเมินทัศนคติของชาวอเมริกันต่อเทคโนโลยีอัจฉริยะใน 4 สถานการณ์ ได้แก่

  • การพัฒนารถยนต์อัตโนมัติไร้คนขับ (Driverless Car) หรือ (Self-driving Car)
  • การนำเครื่องจักรเข้ามาแทนที่การจ้างงานมนุษย์
  • การใช้หุ่นยนต์ดูแล (Robot Carer) 
  • และสุดท้ายการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการประเมินและคัดเลือกคนเข้าทำงานโดยไม่ต้องมีมนุษย์ตรวจสอบคัดกรองอีกที


ผลสำรวจเผยออกมา คือ

  • 72 % ของการสำรวจพบว่าชาวอเมริกันกังวลเกี่ยวกับอนาคต หากรู้ว่าหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์สามารถทำงานที่เคยเป็นงานของมนุษย์ได้ 
  • 76 % เกรงว่า การนำระบบอัตโนมัติเข้ามาจะทำให้ช่องว่างในสังคมระหว่างคนจนและคนรวยกว้างมากยิ่งขึ้น 
  • และมีถึง 75 % มองว่า เศรษฐกิจหลังจากมีระบบอัตโนมัติเข้ามานั้นจะไม่สามารถสร้างงานใหม่ ๆ หรืองานที่มีรายได้ดี ๆ สำหรับคนที่ถูกเลิกจ้างเพราะมีหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่ได้แต่อย่างใด


อย่างไรก็ดี ในเรื่องของการใช้ระบอบอัตโนมัติเข้ามาช่วยในการตัดสินใจและประเมินว่าจะว่าจ้างบุคลากรดีหรือไม่นั้น แม้จะมีความไม่เห็นด้วยเป็นอย่างมาก แต่ปัจจุบันมีการใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าวแล้วในธุรกิจบางประเภท เช่น การประเมินยอดสินเชื่อที่จะให้กู้, การอนุญาตให้พ้นโทษได้ก่อนกำหนด ซึ่งฝ่ายผู้สนับสนุนมองว่า ปัญญาประดิษฐ์(A.I.) นั้นช่วยให้การตัดสินใจโปร่งใสและขจัดปัญหาเรื่องความลำเอียงได้ด้วย

ส่วนกรณีของการคัดเลือกบุคลากรโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น ความเห็นแย้งจากผู้ตอบแบบสอบถามก็เป็นเรื่องน่าคิด เพราะมุมมองที่เห็นแย้งคือคอมพิวเตอร์ไม่สามารถวัดความฉลาดทางอารมณ์ได้(E.Q.) รวมถึงลักษณะทางกายภาพอื่น ๆ ที่คอมพิวเตอร์ไม่สามารถประเมินได้ ในขณะที่หากเป็นมนุษย์ด้วยกันเองจะอาจประเมินได้อย่างถูกต้องมากกว่า

สำหรับความกังวลเหล่านี้อาจไม่สามารถชี้ได้ว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายถูก หรือฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิด แต่สิ่งที่เร่งด่วนกว่าอาจเป็นการหาที่ยืนให้กับมนุษย์ให้ได้รับสิทธิในการยืนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะของมนุษย์ที่พัฒนาเทคโนโลยี หรือและมนุษย์ที่ถูก Disrupt โดยเทคโนโลยีก็ตาม


อ้างอิง 

  • pewinternet.org/2017/10/04/automation-in-everyday-life/
  • mgronline.com/cyberbiz/detail/9600000103283

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น