วันเสาร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เปิดโลกเทคโนโลยียานยนต์ A.I. ไปกับ Toyota


เปิดโลกเทคโนโลยียานยนต์ A.I. ไปกับ Toyota


นอกจากรถยนต์แนวคิดใหม่ที่นำเสนอในงานโตเกียว มอเตอร์ โชว์ 2017 ไปแล้ว “Toyota” ยังได้มีการเปิดเผยเรื่องราวเกี่ยวกับเทคโนโลยีต่างๆ ของบรรดารถยนต์ที่โตโยต้ากำลังพัฒนาขึ้นมาเพื่อก้าวเข้าสู่โลกยุคใหม่ของการเดินทางด้วยรถยนต์ ไฮไลท์สำคัญคงจับจ้องไปที่ระบบขับขี่อัตโนมัติ (AI) ที่กำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะยังไม่สมบูรณ์เต็ม 100% แต่เริ่มใช้งานอย่างเป็นจริงเป็นจังแล้ว

ซึ่งทีมงานเอ็มจีอาร์ มอเตอริ่ง มีโอกาสเข้าร่วมทดสอบการขับขี่ด้วยระบบอัตโนมัติ ซึ่งทางโตโยต้าได้จัดให้เราทดลองขับในตัว เลกซัส แอลเอส ที่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเราเคยลองขับมาแล้วที่อเมริกาในการเปิดตัวครั้งแรก แต่ยังไม่ได้ลองระบบนี้ เนื่องจากจำเป็นต้องใช้หลายปัจจัยในการใช้งาน ดังจะกล่าวดังต่อไปนี้

ระบบนี้มีชื่อว่า ACC (Adaptive Cruise Control) และระบบ LCA (Lane Change Assist) หลายท่านอาจจะคุ้นเคยกับชื่อของทั้งสองระบบนี้ จากแบรนด์อื่นๆ มาบ้างแล้ว แน่นอนว่ามันคือระบบแบบเดียวกัน หลักการทำงานเหมือนกัน เพียงแต่ว่ายี่ห้อใดจะพัฒนาไปให้ใช้งานได้ง่ายและสัมฤทธิ์ผลมากกว่ากันนั่นเอง

เริ่มกันที่ระบบ ACC กันก่อน โตโยต้า ให้เราลองใช้งานระบบนี้ซึ่งติดตั้งอยู่ในใน เลกซัส แอลเอส โฉมใหม่ล่าสุด ด้วยการให้เราขับจากจุดเริ่มต้นไปยังสถานที่เป้าหมาย โดยมีรถนำและขับไปเป็นคู่ รวม 3 คันต่อเซต รถนำจะขับด้วยความเร็วคงที่ ขณะที่แอลเอสที่ขับตามจะเปิดระบบ ACC ด้วยการกดปุ่มแล้วกดเซตให้ ระบบตรวจจับคันหน้า

เมื่อระบบหาคันหน้าเจอจะแสดงผลบนหน้าจอ ด้วยสัญลักษณ์รูปรถที่มีเส้นสีฟ้าพุ่งไปหารถคันหน้า แสดงว่าระบบทำงานเรียบร้อย สิ่งที่เราทำต่อไปคือ แค่จับหรือแตะพวงมาลัยเอาไว้ เพื่อให้รถรู้ว่า เรายังมีสติครบถ้วนอยู่ นอกเหนือจากนี้ระบบจะทำให้ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น การเร่งตามคันหน้า การชะลอ การเบรก หยุดและออกตัว รวมไปถึงการเลี้ยวตามโค้งของถนน โดยที่เราไม่ต้องเหยียบคันเร่งหรือเบรกแต่อย่างใด เปรียบได้กับการ เป็นโบกี้รถไฟ ตามคันหน้าที่เป็นหัวรถจักรนั่นเอง

อย่างไรก็ตามคงมีข้อสงสัยเกี่ยวกับ การแตะพวงมาลัย หากไม่จับหรือปล่อย จะเกิดอะไรขึ้น คำตอบจากทีมวิศวกรคือ หากปล่อยมือเกินกว่า 10 วินาที ระบบจะปลดล็อกการทำงานทันที หลังจากนั้นจะเริ่มชะลอรถ เบรกพร้อมกับเลี้ยวเข้าข้างทาง จนกระทั่งยุดสนิท และตามมาด้วยการแจ้งไปยังศูนย์เพื่อขอความช่วยเหลือ โดยที่ในญี่ปุ่นจะมีรถพยาบาลมายังรถของเราทันที เรียกว่าเป็นการคิดแบบเต็มระบบครบถ้วนเพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่อย่างแท้จริง

ทั้งนี้เนื่องจาก ตามแนวคิดของการติดตั้งระบบนี้คือ เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่ เมื่อระบบตรวจพบว่าผู้ขับขี่ขาดการติดต่อกับตัวรถ นั่นหมายความว่า อาจจะเกิดปัญหากับผู้ขับขี่ ดังนั้น ทีมวิศวกรจึงได้ออกแบบระบบให้ช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และไปจบลงด้วยระบบจะส่งคำขอความช่วยเหลือไปยังศูนย์ นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของเทคโนโลยียานยนต์ที่ให้ความปลอดภัย และการคำนึงถึงตัวมนุษย์เป็นหัวใจหลัก (เราแอบถามว่า ลองได้ไหม แต่ทีมวิศวกรบอกว่า อย่าดีกว่า)

แม้กระนั้น อย่างที่บอกไปตอนต้นว่า ระบบมีข้อจำกัดบางประการที่สำคัญในการใช้งาน เช่น เส้นถนนต้องมีความชัดเจน, ความเร็วของคันหน้า ไม่เกิน 100 กม./ชม. , ทางโค้งที่โค้งมากเกินไประบบจะไม่ทำงาน ต้องบังคับเลี้ยวเอง , ทางแยกรูปตัว y หรือทางเบี่ยงออก ยังจำเป็นต้องบังคับด้วยตัวเอง เป็นต้น

ดังนั้นการใช้งานที่เหมาะกับระบบนี้คือ ทางตรงยาวๆ เพื่อช่วยลดความเมื่อยล้าในการขับขี่ แต่อย่าเผลอหลับ มือหลุดจากพวงมาลัย มิฉะนั้น จะเข้าเงื่อนไขรถจอดให้โดยอัตโนมัติ พร้อมขอความช่วยเหลือทันที

สำหรับระบบ LCA หรือช่วยเปลี่ยนเลน หลักการทำงานคือ ยกก้านคันเลี้ยวซ้ายหรือขวาตามทิศทางที่จะไป เพียงครึ่งหนึ่ง ค้างไว้ประมาณ 3 วินาที เพื่อให้ระบบรับรู้ว่า เราจะไปในทิศทางนี้ แล้วรถก็จะเปลี่ยนเลนไปให้ ทำได้ทั้งซ้ายและขวา โดยมีเงื่อนไขคือ ระบบเซนเซอร์รอบคันจะต้องตรวจแล้วว่าปลอดภัยไร้ซึ่งรถอยู่ในเลนที่เราจะไป ระบบจึงจะเปลี่ยนเลนให้ หากระบบพบว่ามีรถหรือวัตถุอื่นอยู่ รถจะไม่เปลี่ยนเลนให้ ดังนั้นมั่นใจได้ว่า ไม่มีการปาดหน้าคันอื่นอย่างแน่นอน

อาจจะมีคำถามว่า แล้วแค่หักพวงมาลัยเปลี่ยนเลน ไม่ง่ายกว่าหรือ... คำตอบจากวิศวกรคือ ใช่ แต่ที่ใส่ระบบนี้มาให้ ใช้งานเพื่อความปลอดภัย รวมถึงการใช้ก้านคันเลี้ยวในการส่งคำสั่ง มีจุดมุ่งหมายคือ สวัสดิภาพของผู้ขับขี่เป็นสำคัญ เนื่องจากเซนเซอร์สามารถตรวจจับในจุดอับสายตาที่ผู้ขับขี่มองไม่เห็น ดังนั้นจะปลอดภัยกว่า เมื่อเปลี่ยนเลนด้วยการใช้ระบบLCA

จากการได้ทดลองขับ2รอบ และนั่งรวม 4 รอบ ผู้เขียนสามารถกล่าวสรุปได้ว่า ระบบทั้งสองอย่างของเลกซัส สามารถใช้งานได้จริง ช่วยให้ขับสบายและปลอดภัยมากขึ้น ครบถ้วนตามที่วิศวกรตั้งใจ แต่อาจจะยังคงมีข้อจำกัดในการใช้งานอยู่บ้าง และไม่แน่ใจว่าระบบดังกล่าวจะใช้งานได้สมบูรณ์เพียงใดเมื่อมาวิ่งบนถนนเมืองไทย

ที่มา : เมเนเจอร์ ออนไลน์ 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น